ไซเรน เงือก และปลาบิชอป
ซากเสมือนจริงของไซเรน นางเงือก รวมถึงสัตว์ประหลาดจากทะเลอื่นๆ เป็นสิ่งธรรมดาที่จะต้องมีในห้องสารภัณฑ์ ซากอสูรเหล่านี้มาจากความหัวใสของพ่อค้า พวกเขาจะนำชิ้นส่วนสัตว์หลายอย่าง หลักๆคือ ปลา มาประกอบเข้าด้วยกันจนทำให้คนยุคนั้นเชื่อมั่นว่าสัตว์เหล่านี้มีจริง ขนาดที่ว่า ออมบวส ปาเร ศัลยแพทย์ช่างตัดผมคนดังก็ถึงกับเขียนถึงเอาไว้ในหนังสือสัตว์ประหลาดและของแปลก “Monsters and Marvels” ของเขา อ้างว่าในเมื่อมีสัตว์ประหลาดมากมายบนพื้นโลก อาทิ มังกร หรือยูนิคอร์น ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่ในทะเลด้วย ดังนั้น ไซเรน นกหัวคน เงือก หรือทรัยทัน (เจ้าแห่งเงือก-เพศชาย) สัตว์น้ำครึ่งคนครึ่งปลา จึงเป็นของธรรมดาที่ต้องหามาประดับไว้ในหมู่ของสะสม ส่วนรูปร่างจะแปลกแตกต่างไปขนาด กลายเป็นลูกผสมแปลกประหลาดไปกว่านี้อีก เช่น เป็นลูกผสมระหว่างปลา, ลิงหรือหมี หรือไม่ก็น่าจะอยู่ที่คำนำเสนอขายของพ่อค้า
หากคิดว่า ไซเรน เงือก หรือทรัยทันแปลกประหลาดไม่พอ ก็ยังมีที่แปลกกว่านั้น นั่นคือ ปลาบาทหลวง หรือเรียกว่า ปลาบิชอป
ปลาบิชอปเป็นสิ่งที่นักวิชาการกิโยโม ฮงเดอเล ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Montpellier ในภาคใต้ของฝรั่งเศส เป็นนักกายวิภาคศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยา สัตววิทยา ยืนยันว่า เคยเห็นภาพวาดของมันจากกิสแบร์ก แพทย์ชาวเยอรมันอีกต่อหนึ่ง
มันเป็นสัตว์ทะเลที่ดูเหมือนพระนักบวชในศาสนาคริสต์โกนหัว แต่กะโหลกส่วนบนสูงแหลมเหมือนหมวกของพวกบิชอป ตัวของมันคล้ายปลามีเกล็ด ครีบหลังขนาดใหญ่ และครีบว่ายเป็นแฉกเหมือนมือ
กิสแบร์กเล่าว่า เขาเป็นผู้ได้รับตัวอย่างปลาชนิดนี้จากชาวประมงที่จับมันได้ในปี 1531 เขาส่งต่อสัตว์ประหลาดทะเลในลักษณะท่านบิชอปซึ่งถูกพบ...ต่อไปยังอัมสเตอร์ดัมเพื่อถวายกษัตริย์แห่งประเทศ กษัตริย์โปแลนด์ขังมันไว้ ไม่นานนักก็มีกลุ่มบาทหลวงคาทอลิกมาขอชม ปลาบิชอป
สื่อสารกับเหล่าบาทหลวงด้วยท่าทางว่าต้องการให้ปล่อยกลับสู่มหาสมุทร หัวหน้าบาทหลวงก็ทูลกษัตริย์ โน้มน้าวให้พระองค์ปล่อยปลา กษัตริย์เห็นดีด้วยจึงสั่งให้พามันไปริมทะเล ในตอนปล่อยมันกลับลงน้ำ ปลาบิชอปทำสัญลักษณ์กางเขนก่อนว่ายน้ำออกไป...!
มังกรของอัลโดรวานดิ
อูลิเซ อัลโดรวานดิ เป็นหนึ่งในนักสะสมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา เป็นผู้สะสมตัวอย่างจากธรรมชาติจำนวนมาก และเป็นผู้ก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรก แน่นอนว่า เขาย่อมเป็นบุคคลทรงปัญญา เป็นที่น่าเชื่อถือในสังคมสมัยนั้น
เขาอ้างว่าค้นพบมังกรเข้าตัวหนึ่ง เรียกกันว่า “มังกรแห่งโบโลญญา (Dragon of Bologna)” ว่ากันว่ามันถูกสังหารในปี 1572 และต่อมาอัลโดรวานดิก็นำไปจัดแสดงไว้ในห้องสารภัณฑ์สาธารณะของเขา มันทำชื่อเสียง สร้างความภูมิใจแก่เขาอย่างยิ่งที่สามารถเพิ่มมังกรไว้ในคอลเลกชัน และนำมันไปรวมไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติของงูและมังกรที่เขาเขียน อัลโดรวานดิให้รายละเอียดถึงมังกรที่ค้นพบในทุ่งนารอบโบโลญญา กล่าวว่า สิ่งที่เคยมีชีวิตนั้น “คอยาว หางยาว เป็นสัตว์สองเท้ามีเกล็ด ลำตัวหนาและลิ้นแฉก”
การเชื่อว่ามังกรมีจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกในวันเวลาของอัลโดรวานดิ เขาไม่ใช่คนเดียวที่เชื่อเช่นนั้น แม้แต่คอนราด เจสเนอร์ ก็เขียนไว้ในฮิสตอเรีย อนิมาลิอุม (Historiae Animalium) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งในเวลานั้น อ้างสิ่งที่ได้ยินมา “ที่ชายแดนเยอรมนีใกล้กับซีเรียมีสัตว์เลื้อยคลานสี่ขาที่มีรูปร่างคล้ายกิ้งก่าปรากฏขึ้น มันมีปีกและรอยเขี้ยวของมันรักษาไม่หาย” เอาไว้เช่นกัน
ออโตมาตา
ออโตมาตา (Automata) คือหุ่นยนต์ตัวแรก ได้รับความนิยมอย่างมากในศตวรรษที่ 17 และ 18 เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางจักรกลที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น หลังหุ่นตัวแรกปรากฏ มันก็กลายเป็นของที่ทุกคนนิยมชมจนต้องเสาะหามาประดับไว้ห้องเก็บของมหัศจรรย์ ยิ่งแปลกยิ่งดี ยกตัวอย่างเช่นออโตมาตาของมานเฟรโด เซตทาลา นักสะสมของมิลาน เป็นหุ่นยนต์หัวปิศาจ เขาวางมันไว้ที่หน้าทางเข้าห้องสารภัณฑ์ เมื่อใดที่มีคนเข้ามา กลไกในหัวของมันจะทำให้หุ่นแลบลิ้นและส่งเสียงดังทำนองหลอกหลอน
ส่วนเดอ วาแคนสัน ก็ประดิษฐ์เป็ดกลซึ่งสามารถย่อยอาหารได้ (ต่อมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นการหลอกลวง โดยนำอาหารที่ย่อยแล้วใส่เข้าไปในเครื่องไว้ก่อน) หรือเช่นช่างทำนาฬิกาชาวสวิส ปิแอร์ จาคเก ดโฮซ สร้าง ออโตมาตาที่สามารถเล่นเครื่อง ดนตรีและเขียนหนังสือ
ประติมากรรมตั้งโต๊ะสยอง (Anatomical Tableaux)
ประติมากรรมตั้งโต๊ะสยอง หรือประติมากรรมซากศพตั้งโต๊ะ เป็นประดิษฐกรรมขนหัวลุกปรากฏอยู่ในห้องสารภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มสร้างมันขึ้น ความแปลกประหลาดของมันเป็นพยานถึงความหลากหลายของโลกธรรมชาติ ยิ่งกว่านั้น ความหายากของมันยิ่งเพิ่มมูลค่าแก่บรรดาของสะสม
เฟรเดอริค รุยช์ เจ้าของสิ่งสะสมจำนวนมาก เริ่มรวมการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เข้ากับความบันเทิงและความประหลาดในงานของเขา รุยช์เป็นนักพฤกษศาสตร์โดยอาชีพ เขาประมวลความรู้แล้วสร้างวิธีการนำเสนอตัวอย่างที่เขาขายให้กับปีเตอร์มหาราช ซาร์แห่งรัสเซีย ผลก็คือประติมากรรมซากศพตั้งโต๊ะดังกล่าว
ประติมากรรมตั้งโต๊ะ เขาสร้างฉากภาพแบบสามมิติ (dioramas) ขึ้น ยกตัวอย่างเช่นนำโครงกระดูกของทารกในครรภ์มาจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่น่าทึ่งในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สร้างขึ้นใหม่ หากแต่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติกลับประดิษฐ์จากส่วนต่างๆของร่างกาย เขานำก้อนนิ่วและนิ่วในไตมาทำหินเทียม เส้นเลือดและหลอดเลือดแดงซึ่งฉีดสีต่างๆ และเลาะออกมาจากศพ (เน้นหลอดเลือดแดงและเส้นเลือดฝอย) เอามาทำกิ่งก้านต้นไม้ซึ่งแผ่กิ่งก้านไร้ใบ และเนื้อเยื่อปอดเอามาทำพุ่มไม้และหญ้าชิ้นงานของรุยช์เป็นที่นิยมมากในตู้ของสะสมสมัยศตวรรษที่ 18 อาจเพราะล้ำเกินคำบรรยายและมีรูปแบบเชิงเปรียบเทียบหมายไปถึงการดำรงอยู่ชั่วคราวในธรรมชาติ
สารานุกรมสัตว์และสารานุกรมสมุนไพร (Bestiaries & Herbaria) ยุคแรก
สรรพสิ่งในห้องสารภัณฑ์นอกเหนือจากสิ่งที่เว้นวรรคไม่ได้กล่าวไว้ เช่น เขายูนิคอร์น, ปักษาสวรรค์ไร้ขา หรือหอยงวงช้าง (Nautilus) ที่ตกแต่งด้วยภาพวาด ยังคงมีสิ่งที่ต้องเล่าทิ้งท้ายก็คือ สารานุกรมสัตว์และสารานุกรมสมุนไพรยุคแรก หนังสือทั้งสองประเภทนี้รวบรวมเหล่าสัตว์และพันธุ์พืชเอาไว้มากมายจนเรียกได้ว่าเป็นสารานุกรม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในยุคกลางอย่างยิ่งที่สารานุกรมสัตว์มักผูกติดอยู่กับห้องสารภัณฑ์ เหตุผลหนึ่งก็คือ วัตถุประสงค์การจำแนกตัวอย่างที่เก็บสะสม
ในเล่มสัตว์ รวมตั้งแต่สัตว์สามัญ สัตว์แปลก ไปจนถึงสัตว์ประหลาด ทั้งหมดมาจากหลายที่มา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมักถูกดึงมาจากคำบอกเล่าจากนักเดินทางสู่โลกใหม่ นอกจากจะมีรูปภาพเขียนขึ้นตามจินตนาการหรือวาดตามคำบอกเล่า ผู้เขียนยังอธิบายรูปร่างอย่างละเอียด นิสัยของมัน และประโยชน์ที่มีต่อมนุษย์ หรือมีคุณสมบัติในทางยาได้ราวกับตาเห็น แม้จะไม่แน่ชัดว่า ผู้เขียนเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้มีจริงหรือไม่ แต่การที่พวกมันถูกบรรยายและรวมอยู่ในสารานุกรมสัตว์ก็ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ
ส่วนในเล่มสารานุกรมสมุนไพร “เฮอร์บาเนีย (herbaria)” หนังสือที่รวบรวมพืชพันธุ์ที่เคียงคู่มา ก็รวบรวมเอาตัวอย่างพันธุ์พืชจาก ธรรมชาติ มีการระบุและอธิบายไว้ละเอียด ซึ่งมักจะเป็นคุณสมบัติทางยาเป็นพิเศษเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักสำหรับหนังสือทั้งสองอย่างก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสารานุกรมสัตว์ หรือสารานุกรมสมุนไพรยุคแรก ล้วนยังไม่มีขีดแบ่งเส้นระหว่างวิทยาศาสตร์และจินตนาการ จนหลายครั้งก็ทำให้เกิดความพิศวงจนยากจะเข้าใจ.
โดย : ภัสวิภา
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย’ตูน
July 18, 2020 at 03:05PM
https://ift.tt/3fIAwTp
ของประหลาดจากห้องสารภัณฑ์ - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3ezGUvd
Home To Blog
No comments:
Post a Comment