Pages

Saturday, August 29, 2020

121 ปีความทรงจำ 'ล่อง รอยราชดำเนิน นิทรรศการผสานวัย' - โพสต์ทูเดย์

juraganluempang.blogspot.com

121 ปีความทรงจำ ‘ล่อง รอยราชดำเนิน นิทรรศการผสานวัย’

วันที่ 30 ส.ค. 2563 เวลา 10:17 น.

นิทรรศการรูปแบบใหม่ที่จะพาทุกคน ‘ล่อง’ ไปตาม ‘รอย’ ของพื้นที่ประวัติศาสตร์ถนนราชดำเนิน กับนิทรรศการชุดพิเศษ “ล่อง รอยราชดำเนิน นิทรรศการผสานวัย” ผสานความทรงจำคนหลายเจน

หากเอ่ยชื่อ “ถนนราชดำเนิน” คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักคุ้นเคยดี แม้มิใช่ชาวกรุงเทพมหานคร เพราะถนนสายนี้เป็นถนนสายสำคัญหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ และมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของชาติมายาวนานถึง 121 ปีแล้ว ปัจจุบันถนนราชดำเนินไม่ได้เป็นเพียงแค่ถนนสายสำคัญด้านการคมนาคมของกรุงเทพมหานครในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ยังเป็นถนนที่ได้บันทึกเรื่องราวในอดีต ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรมประเพณี จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดไปจนถึงเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองในหลายยุคหลายสมัยด้วย

ด้วยอายุที่ยาวนานนับร้อยปีของถนนสายนี้ นับจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้ขึ้น ด้วยทรงเห็นว่าท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกร (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์ กับถนนสามเสน) เป็นที่เปลี่ยว ยังไม่มีถนนหลวงให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวก ประกอบกับทรงต้องการใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนินจึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมๆ กับความทรงจำมากมายของผู้คนต่างยุคต่างสมัย ต่างวัย ต่างรุ่น (Generation)

ประวิทย์ สังข์มี นักสะสมของเก่าและผู้มีส่วนร่วมในการนำเสนอวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการชุดนี้ เป็นผู้ได้มีโอกาสสัมผัสและเห็นภาพของประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งบนถนนราชดำเนินในห้วงเวลาการผ่านร้อนผ่านหนาวที่สำคัญ เล่าถึงภาพความทรงจำเกี่ยวกับถนนสายนี้ว่า หนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับถนนราชดำเนินที่เขาได้ประสบมาคือ ตลาดนัดสนามหลวง ที่ในสมัยนั้นสนามหลวงยังเป็นแหล่งขายสินค้าหลากหลาย ดูคล้ายๆ กับตลาดนัดจตุจักรในปัจจุบัน ซึ่งตัวเขาชอบไปเดินหาซื้อเสื้อผ้ามือสอง ที่สมัยนั้นจะเป็นพวกเสื้อผ้ากระสอบที่จะนำมาแขวนบนราวเรียงขายเป็นแถว  “ตอนนั้นเราไม่ค่อยมีสตางค์ก็จะไปเดินเลือกซื้อเสื้อมือสองที่เขาจะแขวนราวเรียงเป็นตับไปเลย”

นอกจากเป็นแหล่งเสื้อผ้ามือสอง ซุ้มขายหนังสือตรงมุมพระแม่ธรณี ก็เป็นอีกจุดหนึ่งในความทรงจำของหนอนหนังสือและนักอ่านทั้งหลาย เพราะมีทั้งหนังสือมือสอง หนังสือเรียน วรรณกรรม นิยาย หนังสือต่างประเทศ และอีกหลากหลายประเภทที่นำมาวางขายแน่นไปหมด ภาพในเชิงลบของมุมนี้ที่ประวิทย์เล่าว่า เขารู้สึกไม่ประทับใจเลย แต่ก็ยังจดจำได้ดี นั่นคือ ส้วมสาธารณะ ที่เจ้าตัวบอกว่า “มันเหม็นมากๆ อยู่ตรงแผงขายหนังสือนั่นแหละ”

นอกจากฝั่งสนามหลวงการที่คุณพ่อของประวิทย์ทำงานอยู่บริษัทเดินอากาศไทยซึ่งตั้งอยู่ตรงสะพานผ่านฟ้าทำให้เขาได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสกับช่วงเวลาต่างๆของถนนราชดำเนินอยู่บ่อยครั้ง 

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่เขาประทับใจมาก คือช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่จะมีการประดับประดาไฟบนถนนราชดำเนิน ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดตกแต่งสวยงามแตกต่างกันไป ในสมัยก่อนถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในสมัยนั้นที่คนกรุงเทพฯ ตั้งตารอที่จะไปสัมผัส ตัวเขาเองก็ชอบไปเดินดูไฟงานวันเฉลิม ซึ่งสมัยก่อนจะจัดสวยมาก โดยจะเดินดูไปเรื่อยๆ กับคุณแม่

เมื่อเอ่ยถึงถนนราชดำเนินในช่วงยุคสมัยการเติบโตของประวิทย์ อีกสิ่งหนึ่งที่เขานึกถึงก็คือ โรงหนังเฉลิมไทย หรือศาลาเฉลิมไทย...โรงหนังชื่อดังแห่งยุค ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหัวมุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย ที่เป็นโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2483 ตามความประสงค์ของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม อาคารเป็นรูปทรงโมเดิร์นตามแบบตะวันตกไม่มีหลังคา คล้ายคลึงกับศาลาเฉลิมกรุง ตัวอาคารได้รับการออกแบบโดย จิตรเสน อภัยวงศ์ ที่จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส และตกแต่งภายในโดย ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ในสมัยนั้นศาลาเฉลิมไทยถือเป็นหนึ่งในโรงมโหรสพที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยที่นั่งราว 1,200 ที่นั่ง พร้อมที่นั่งชั้นบน เวทีเป็นแบบมีกรอบหน้า มีเวทีแบบเลื่อนบนราง (Wagon Stage) เพื่อความรวดเร็วในการเปลี่ยนฉาก ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2496 และต่อมาถูกรื้อทิ้งตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2532 เนื่องจากศาลาเฉลิมไทยตั้งอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดารามวรวิหาร และโลหะปราสาท ทำให้เกิดการบดบังทัศนียภาพเบื้องหลัง

“เมื่อเขาทุบโรงหนังเฉลิมไทยออกไปแล้ว ก็ทำให้เห็นมุมมองของวัดราชนัดดาสวยชัดเจน อันนี้ผมชอบวิธีการปรับปรุงในมุมนี้นะ” ประวิทย์เล่าถึงความทรงจำในอีกมุม

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในห้วงเวลานั้น และติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากมายที่ร่วมยุคสมัย รวมทั้งตัวประวิทย์ก็คือ เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในห้วงเวลานั้นประวิทย์ยังเป็นเพียงเด็กชายวัยมัธยม แต่ด้วยเพราะบ้านอยู่ไม่ไกลจากราชดำเนิน ทำให้เขาได้มีส่วนร่วมรับรู้เหตุการณ์ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง

“ตอนนั้นเราจะได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ และได้ยินเสียงปืนกราดยิงลงมาจากท้องฟ้า ได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืนที่มาจากถนนราชดำเนินชัดเจน เราก็มีความพยายามอยากจะออกไปร่วมเหตุการณ์กับเขาด้วยนะตอนนั้น แต่คุณแม่ห้ามไว้ ทั้งที่นั่งรถไปนิดเดียว ข้ามเรือไปก็ถึงท่าพระจันทร์แล้ว นี่เป็นเหตุการณ์ที่เราประสบมากับตัวเอง ไม่ใช่ดูจากภาพ หรือฟังเขาเล่าเรื่อง ตอน 6 หรือ 19 ตุลา ก็เหมือนกัน สถานที่เดียวกัน ตอนนั้นเราก็ได้ยินเสียงปืนชัดเจน นี่ก็เป็นราชดำเนินในความทรงจำ”

นอกจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในมุมของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ ของถนนราชดำเนินก็เป็นหนึ่งในภาพจำของเขาเช่นกันแม้ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแต่สำหรับประวิทย์เขามองว่าถนนราชดำเนินการยังมีเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างสภาพแวดล้อมน้อยมากเพราะสถานที่สำคัญหลายแห่งยังคงอยู่และมีโครงสร้างที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลยเช่นร้านอาหารศรแดงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโรงแรมรัตนโกสินทร์ยกเว้นสะพานที่มีการขยายและปรับปรุงรวมไปถึงอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ที่โดนไฟไหม้รวมถึงโรงหนังเฉลิมไทยที่รื้อทิ้งไป

“พูดถึงราชดำเนิน อีกสถานที่ที่ผมจะนึกถึงคือ อาคารของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเดิมเป็นของห้างแบดแมน เป็นตึกเก่าสมัย ร.5 ก่อนที่จะถูกไฟไหม้แล้วเขาทุบทิ้ง  ผมประทับใจตัวอาคารเพราะมันสวยมาก”

ด้วยความเป็นนักสะสมและชื่นชอบในประวัติศาสตร์ประวิทย์จึงเก็บสะสมภาพเก่าและสิ่งของในอดีตไว้มากมายซึ่งส่วนหนึ่งก็คือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำในอดีตบนถนนราชดำเนินด้วย

“การสะสมของผมเริ่มมาจากผมชอบสะสมภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมันมีเยอะ ผมก็จะเก็บเป็นประเภท แยกเป็นเรื่องราว เป็นเหตุการณ์ อย่างราชดำเนินเองก็มีหลายเรื่อง แต่ที่ผมเก็บเป็นภาพแรกจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์น้ำท่วมถนนราชดำเนิน ช่วงปี 2485 ซึ่งมันดูเป็นเรื่องแปลกมากในสมัยนั้น พอเห็นภาพนี้ เอ๊ะ! พายเรือที่ราชดำเนินกันเลยเหรอ ต่อมามันก็มีภาพน้ำท่วมที่เยาวราช ที่นั่นที่นี่มาอีก เลยเก็บเป็นภาพชุดน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นภาพเหตุการณ์ที่อยู่ในกลุ่มที่เราสนใจอยู่แล้ว ก็เก็บสะสมมาเรื่อยๆ”

ภาพและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำบนถนนราชดำเนิน มีทั้งภาพถ่ายถนนราชดำเนินในมุมและเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ การ์ดเชิญเปิดโรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่เจ้าตัวบอกว่า “อันนี้สนุก อ่านแล้วดูน่าสนใจดี” ...เพราะเป็นการใช้ภาษาในยุคจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งเป็นยุคที่เรียกกันว่า “ภาษาวิบัติ” เพราะมีการใช้ภาษาแบบลดตัวอักษรลงไป หรือการ์ดเชิญเปิดโรงแรมสุริยานนท์ ซึ่งตอนนั้นเปิดพร้อมกัน และตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน หรือใบเสร็จห้างแบดแมน ซึ่งพิมพ์ออกมาสวยมาก หรือการ์ดงานเปิด ททท. และถนนราชดำเนินกลาง เป็นต้น

“ของสะสมเหล่านี้อาจมีมูลค่าไม่มาก แต่มีคุณค่าทางจิตใจที่ไม่สามารถจะตีราคาได้ เพราะมันไม่มีอีกแล้ว อย่างการ์ดเชิญโรงแรมรัตนโกสินทร์ ก็ไม่มีแล้ว มันไม่ได้หาง่ายๆ มิวเซียมสยามจะเป็นสถานที่แรกที่ผมส่งของเหล่านี้ไปให้จัดแสดง นี่ยังไม่เคยโชว์ที่ไหนเลย พอดีเห็นว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับถนนราชดำเนินเลยถือโอกาสส่งไปให้จัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้ชมกัน”

ร่วมสัมผัสนิทรรศการรูปแบบใหม่ที่จะพาผู้ชม ‘ล่อง’ ไปตาม ‘รอย’ ของพื้นที่ประวัติศาสตร์ถนนราชดำเนิน โดยมิวเซียมสยาม กับนิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ ‘ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย’ ที่งานนี้นอกจากภาพและสิ่งของในความทรงจำมากมายที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวถนนราชดำเนินอย่างเพลิดเพลินแล้วนิทรรศการนี้ยังมีกระบวนการเล่าเรื่องที่น่าสนใจและไม่ธรรมดาอีกด้วย

นิทรรศการ ‘ล่อง รอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ จัดแสดงที่มิวเซียมสยามถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จากนั้นจะย้ายไปจัดแสดงที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน – 31 ตุลาคม 2563

Let's block ads! (Why?)


August 29, 2020 at 08:27PM
https://ift.tt/3gDbyER

121 ปีความทรงจำ 'ล่อง รอยราชดำเนิน นิทรรศการผสานวัย' - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/3ezGUvd
Home To Blog

No comments:

Post a Comment